คอลัมน์การเมือง – สายสีส้ม เงินหายในอากาศ 6.8 หมื่นล้านบาท?

ล่าสุด รฟม. ยืนยันความโปร่งใสในการดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

1. ก่อนหน้านี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเวทีเสวนากิจกรรม “ฟัง-คิด-ทำ : ถึงเวลาหยุดคนโกง หยุดงบประมาณรั่วไหล”

ได้กล่าวถึงผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กล่าวถึงส่วนต่างมูลค่ากว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ที่กลุ่มบีทีเอสยืนข้อเสนอตั้งแต่การประมูลครั้งแรกใช้เงินแผ่นดินก่อสร้างถูกกว่ารายอื่นๆ แต่สุดท้าย กลับเป็นเอกชนรายอื่นได้รับการประกาศให้ชนะประมูล

2. รฟม. ชี้แจงว่า

1) การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่โปร่งใสภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน
ได้ส่งผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน

2) การคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้เคยยื่นข้อเสนอไว้นั้น ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

3) ข้อเสนอของ BTSC ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเมื่อปี 2563 ตามที่กล่าวอ้างก็มิได้ผ่านการตรวจสอบและพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการคัดเลือก

ฯลฯ

รฟม. ยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ

รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง35.9 กิโลเมตร

แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี
(สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี)

และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ก่อนหน้านี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ กรณี 6.8 หมื่นล้านในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ระบุถึงปัญหาข้อพิรุธ กรณีประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ระบุว่า ปรากฏเงื่อนงำว่า ราคาของผู้ชนะการประมูลเป็นราคาที่ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ไปมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเสนอของเอกชนก่อนนั้น

บางตอนของแถลงการณ์ ระบุข้อเรียกร้อง อาทิ “1. ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล สั่งให้มีการตรวจสอบว่า ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเปิดให้องค์กรวิชาชีพ ที่สังคมเชื่อมั่น เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบด้วย เช่น สภาวิศวกรฯ สภาวิศวกรที่ปรึกษาฯ แล้วเปิดเผยให้ประชาชนทราบโดยเร่งด่วน…” เป็นต้น

ถามว่า ตัวเลข 6.8 หมื่นล้านบาท มาจากไหน?

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

“…ผลพวงจากการประมูลหาเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออกซึ่งต้องประมูลถึง 2 ครั้ง อาจทำให้ รฟม. ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้าน เงินจำนวนมหาศาลนี้ซึ่งเป็นภาษีของพวกเราสามารถนำไปสร้างรถไฟฟ้าได้อีกสายอย่างสบายๆ น่าเสียดายมั้ยครับ?

1. เงินก้อนใหญ่ 6.8 หมื่นล้าน คิดมาได้อย่างไร?

1.1 การประมูลครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก(บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า เกณฑ์ประมูลเดิมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการแก้ไขเกณฑ์ประมูลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน

การประมูลครั้งที่ 1 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ (2) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

แม้การประมูลครั้งที่ 1 จะถูกล้มไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเร็วๆ นี้ BTSC ได้ขอเอกสารที่ยื่นประมูลคืนจาก รฟม. และได้เปิดซอง “ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน” ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC ได้เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท เป็นผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC 9,675.42 ล้านบาท หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BTSC เสนอให้ รฟม. แล้ว (79,820.40-70,144.98) เงินสนับสนุนจำนวน 9,675.42 ล้านบาทนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM ทำให้ผู้ติดตามการประมูลแทบล้มทั้งยืน ! เพราะต่ำกว่ามาก

1.2 การประมูลครั้งที่ 2

หลังจากการประมูลครั้งที่ 1 ถูกล้มไปแล้ว รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) BEM และ (2) ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี ส่วน BTSC ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ เพราะหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอไม่ได้ อาจเป็นที่สงสัยว่าทำไมในการประมูลครั้งที่ 1 BTSC จึงสามารถหาผู้รับเหมาได้แต่
ครั้งที่ 2 กลับหาไม่ได้ ขอตอบว่า มีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้นกว่าครั้งที่ 1

ก่อนหน้าที่ BTSC จะเปิดซอง “ข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน” ของตนเองนั้น รฟม. ได้เปิดซองดังกล่าวของ BEM และของ ITD Group พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM จำนวน 78,287.95 ล้านบาท (หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้ รฟม. แล้ว) และให้แก่ ITD Group จำนวน 102,635.66 ล้านบาท (หลังจากหักเงินตอบแทนที่ ITD Group เสนอให้ รฟม. แล้ว) ส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจาก รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนน้อยกว่านั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม รฟม. ไม่ได้เปิดเผยจำนวนเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้แก่ รฟม. และจำนวนเงินที่ BEM ขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. เพียงแต่เปิดเผยจำนวนเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนให้แก่ BEM หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้ รฟม. แล้วเท่านั้น

1.3 ส่วนต่างของเงินสนับสนุนจาก รฟม. ระหว่างการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2

กรณีไม่ล้มการประมูลครั้งที่ 1 อาจเป็นไปได้ที่ BTSC จะชนะการประมูล ส่งผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนเพียง 9,675.42 ล้านบาทเท่านั้น แต่กรณีล้มการประมูล ครั้งที่ 1 และเปิดการประมูล ครั้งที่ 2 ทำให้ รฟม. ต้องให้เงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 78,287.95 ล้านบาท หรือให้เงินสนับสนุนมากขึ้นถึง 68,612.53 ล้านบาท(78,287.95-9,675.42)…”

เพราะฉะนั้น ตัวเลข เงิน 6.8 หมื่นล้านบาทๆ ไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ หรือคำคุยโวเท่านั้น แต่เป็นตัวเลขจริง ที่เอกชนเคยเสนอจริงในการประมูลครั้งแรก

เพราะเมื่อยกเลิกการประมูลครั้งแรก แล้วแก้เงื่อนไขคุณสมบัติ ก่อนเดินหน้าประมูลครั้งที่สอง จึงได้ผู้ชนะที่รัฐจะต้องจ่ายอุดหนุนสูงกว่าข้อเสนอดีที่สุดของเอกชนที่ยื่นไว้ในครั้งแรกมหาศาลถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

แถมการล้มประมูลครั้งแรก ก็ยังถูกฟ้องร้องว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องด้วย

เงินมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ จะระเหยไปในอากาศ หรือไม่ หากเดินหน้าตามผลการคัดเลือกของ รฟม.?

สารส้ม