“ธำรงศักดิ์โพล” เผยคน Gen Z 83.2% ให้รัฐบาล “ประยุทธ์” สอบตกด้านความเจริญชาติ

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2565 มีการเผยแพร่งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-25 ปี ทั้งประเทศมี 6.86 ล้านคน) ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ จำนวน 419 คน เกี่ยวกับทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองข้อคำถามว่า “ในช่วง 8 ปีกว่าภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านคิดว่ารัฐบาลนี้ได้สร้างให้ท่านมีความหวังต่อความเจริญของชาติและชีวิตที่ดีขึ้นของท่านและครอบครัว ในระดับใด”

โดยผลการวิจัยพบว่า

1.คน Gen Z ส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำให้คน Gen Z มีความหวังต่อความเจริญของชาติและชีวิตที่ดีขึ้นของท่านและครอบครัว ในระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 83.2 (341 คน) รองลงมาคือ ระดับน้อย ร้อยละ 10.3 (42 คน) ระดับปานกลาง ร้อยละ 4.6 (19 คน) ระดับมาก ร้อยละ 0.7 (3 คน) ระดับมากที่สุด ร้อยละ 1.2 (5 คน)

2. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คน Gen Z เห็นว่า ระยะ 8 ปีกว่าของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจการรัฐประหาร 2557 ของ คสช. นั้น มุ่งสร้างสภาพรวยกระจุก จนกระจายให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สร้างสภาพเศรษฐกิจถดถอย เกิดความรู้สึกว่าขาดความปลอดภัยทั้งในระดับชีวิตและระดับสังคม ข้าราชการเป็นผู้ก่อเหตุที่สยดสยอง ข้าราชการเต็มไปด้วยเรื่องราวคอรัปชั่น รัฐบาลนั้นไร้ประสิทธิภาพต่อการบริหารด้านต่างๆ ของประเทศ การช่วยเหลือตอนโควิดก็ต้องยื้อแย่งแข่งขันเพื่อจะได้เงินมาเพียงน้อยนิด ไม่ช่วยอย่างเสมอภาคแก่ทุกคน ทำให้คน Gen Z รู้สึกไร้ความหวัง สิ้นหวัง และหดหู่ มองไม่เห็นเส้นทางชีวิตและการทำงานในอนาคต เห็นแต่ชีวิตที่จะได้ค่าแรงราคาถูก มองไม่เห็นทางที่จะหารายได้จุนเจือตนเองและครอบครัวได้อย่างเพียงพอ มองไม่เห็นอนาคตว่าสังคมไทยจะเจริญขึ้นเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างไร เห็นแต่ไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ตลอดไป 

3. สอดคล้องกับการสำรวจทัศนคติคน Gen Z ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่คน Gen Z เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่พึงปรารถนา ได้คะแนนเพียงร้อยละ 0.3 และ 0.1 ตามลำดับ ทว่านายกรัฐมนตรีแห่งความหวังของชาติของคน Gen Z คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายทักษิณ ชินวัตร ตามลำดับ

4. สอดคล้องกับงานวิจัยทัศนคติคนเทศบาลเมืองพังงาของนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต (2565) เสาวลักษณ์ ณ นคร พบว่าการรัฐประหาร พ.ศ.2557 คนเทศบาลเมืองพังงาเห็นว่าทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นในระดับน้อยที่สุด (𝑥̅  = 1.48) และ ทำให้เศรษฐกิจการค้าและการจ้างงานดียิ่งขึ้นในระดับน้อยที่สุด (𝑥̅  = 1.51)

5. สอดคล้องกับงานวิจัยทัศนคติคนเทศบาลตำบลโคกสำโรง ลพบุรี ของนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต (2565) เบญจภรณ์ ตรีกุล ประชาชนเห็นว่าการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการทำให้ครัวเรือนมีเงินออมเพิ่มขึ้น พึงพอใจในระดับน้อยที่สุด (𝑥̅  = 1.69) การช่วยให้ครัวเรือนมีความสุขทางเศรษฐกิจ พึงพอใจในระดับน้อยที่สุด (𝑥̅  = 1.61) และมาตรการการช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนโดยโครงการต่างๆ ของรัฐบาล พึงพอใจในระดับน้อย (𝑥̅  = 2.15)

6. งานวิจัยในพื้นที่ชนบทและภาคการเกษตร ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ของนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต (2565) ทัดดาว  ฝุ่นตะคุ พบว่า ประชาชนในชนบทก็ไม่ปรากฏทัศนคติชื่นชมการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะทุกด้าน พึงพอใจในระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ (𝑥̅  = 3.32) ด้านการช่วยเหลือจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-2019 (𝑥̅  = 3.33)  ด้านรายได้ของครัวเรือน (𝑥̅  = 3.35)

7. ขณะที่คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 2557 อย่างชัดเจนสูงถึง 93% เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2557 เพียง 2.7% ซึ่งเป็นผลการวิจัยของสามนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต (2565) ภาณุพัฒน์ เหลือพร้อม พิมพ์ณัฐชยา โรจนโยทิน และ ฐรดา สิรปวเรศ

8. ผลสะท้อนจากทัศนคติคน Gen Z ที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6.86 ล้านคน ชี้แนวโน้มว่า พรรคการเมืองใดที่สัมพันธ์กับผู้นำ คสช. คณะรัฐประหาร ทั้งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร จะได้คะแนนเสียง ส.ส. ในบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อในระดับน้อยที่สุด และเช่นกันในเขตกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.48 ล้านคน พรรคการเมืองดังกล่าวก็จะได้รับคะแนนเสียง ส.ส. ในบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อในระดับน้อยที่สุด ขณะที่ในเมืองจังหวัดต่างๆ และในชนบทจะอยู่ในระดับน้อยและปานกลางตามลำดับ 

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคน Gen Z ต่อ 5 ประเด็นคำถามเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 4-11 พฤศจิกายน 2565  โดยเก็บจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ภาคกลางที่ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี อยุธยา ภาคเหนือที่พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ เลย อุดรธานี ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎณ์ธานี ภูเก็ต ยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวม 24 จังหวัด รวม 31 สถาบันอุดมศึกษา รวม 412 คน

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 249 คน (60.4%) ชาย 122 คน (29.6%) เพศหลากหลาย 41 คน (10.0%)

โรงเรียนที่ท่านจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากเขตภูมิภาคใด : กรุงเทพฯ 91 คน (22.1%) ภาคกลาง 128 คน (31.1%) ภาคเหนือ 35 คน (8.5%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 คน (26.9%) ภาคใต้ 47 คน (11.4%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม อายุ 18 ปี 102 คน (24.8%) อายุ 19 ปี 129 คน (31.3%) อายุ 20 ปี 67 คน (16.3%) อายุ 21 ปี 50 คน (12.1%) อายุ 22 ปี 28 คน (6.8%) อายุ 23 ปี 15 คน (3.6%) อายุ 24 ปี 11 คน (2.7%) อายุ 25 ปี 10 คน (2.4%)

มีผู้ไม่ตอบคำถามในข้อนี้รวม 2 คน ผู้ตอบคำถามข้อนี้ 410 คน

อ้างอิง
เสาวลักษณ์ ณ นคร. (2565). ทัศนคติของประชาชนต่อการรัฐประหาร พ.ศ.2557 : กรณีศึกษาเทศบาลเมืองพังงา จังหวัดพังงา. รัฐศาสตรมหาบัณฑิต การปกครอง มหาวิทยาลัยรังสิต.
เบญจภรณ์ ตรีกุล. (2565). ทัศนคติของประชาชนต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา : กรณีศึกษาเทศบาลตำบลโคกสำโรง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี. รัฐศาสตรมหาบัณฑิต การปกครอง มหาวิทยาลัยรังสิต.
ทัดดาว  ฝุ่นตะคุ. (2565). การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ศึกษาตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร. รัฐศาสตรมหาบัณฑิต การปกครอง มหาวิทยาลัยรังสิต.
“เปิดผลวิจัย ม.รังสิต คนกรุงเทพฯ 93% ยี้ ‘รัฐประหาร’ ทุกเพศ วัย อาชีพ ไม่เว้น ขรก.” ใน มติชนออนไลน์ (15 พฤษภาคม 2565) “งานศึกษา นศ.ป.โท ม.รังสิต เผยคนกรุงฯ 93% ไม่เอารัฐประหาร ขอเลือกตั้ง ผอ.เขต – เอา ส.ข.คืนมา.” ใน ประชาไท (16 พฤษภาคม 2022) “พล.อ.ประยุทธ์ มีอิทธิพลโน้มน้าว ปชช.ให้เลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้ ? อ่านงานวิจัย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ มีคำตอบ!” ใน มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ (7 เมษายน 2565) “เปิด 3 งานวิจัย ม.รังสิต คนพังงา อยุธยา ปราจีนฯ ไม่เอาแล้วรัฐประหาร ทำชาติไม่พัฒนา.” ใน มติชนออนไลน์ (17 พฤษภาคม 2565) “งานศึกษา นศ.ป.โท ม.รังสิต 4 ชิ้น ชี้คนกรุง-คนต่างจังหวัด ไม่เอารัฐประหาร 57.” ใน ประชาไท (18 พฤษภาคม 2022) ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “ความนิยมต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ 2565.” ใน มติชน (7 พฤษภาคม 2565), หน้า 12.

หมายเหตุ : 
1.    งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยส่วนบุคคล ทัศนะจากงานวิจัยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น และขอบคุณเพื่อนอาจารย์และนักศึกษาทุกสถาบันเป็นอย่างสูงที่ช่วยเหลือในการวิจัยครั้งนี้
2.    สื่อสามารถนำทั้งหมดหรือบางส่วนไปเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ขอระบุที่มาว่า “อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล”