17มี.ค.2555 ปิดฉาก “เฉลียว อยู่วิทยา” เจ้าพ่อกระทิงแดง ตำนานคนจริง

คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่า “กระทิงแดง” หรือที่เรียกติดปากว่า “เรดบูล” มีต้นกำเนิดจริงๆ ย้อนไกลถึงยุคจอมพล ป. ราวพุทธทศวรรษ 2500 จากวิสัยทัศน์ระดับเลิศของนายห้างขายยาคนหนึ่ง

 

วันนี้ถ้าจะบรรยายถึงความสำเร็จ อาจนิยามอย่างย่อสามคำว่า “รุ่ง รวย ไกล”

 

นายห้างผู้นั้นก็คือ “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ซึ่งมีบรรพบุรุษมาจากจีนไหหลำ แต่กล้าที่จะสร้างทำให้เกิดเป็นตำนานยอดคนคู่ฟ้าเมืองไทยมาจนทุกวันนี้

 

หากแต่วันนี้เมื่อ 10ปีก่อน ตรงกับวันที่ 17 มีนาคม 2555 “โกเหลียว” ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคชรา เหลือกิจการที่มั่นคงแข็งแรงดุจหินผาไว้ให้ทายาทรุ่นต่อๆ ไปสืบทอดโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก

 

และแม้ว่าท่านจะจากไปแล้ว แต่เรื่องราวของ “โกเหลียว” ก็ยังได้รับการกล่าวขานไม่รู้จบ เป็นตำนานไม่มีวันตายของจริง

  • ประวัติโกเหลียว

“เฉลียว อยู่วิทยา” เกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2466ที่บ้านเขารูปช้าง ตำบลหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยมีชื่อจีนคือ “โกเหลียว”และมีเชื้อสายจีนไหหลำ โดยปู่มาจากเมืองจีน และย่าเป็นชาวไทย

 

โกเหลียวก็เหมือนเจ้าสัวเมืองไทยอีกหลายตระกูล ที่ชีวิตแรกเริ่มอันขัดสนทำให้ต้องดิ้นรนจนได้สัมผัสกองทองแห่งความมั่งคั่ง

 

เดิมทีที่บ้านประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ด และค้าขายผลไม้ เป็นครอบครัวที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ โกเหลียวเองก็ต้องช่วยบิดามารดาทำงานเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก เคยทำงานหลากหลายอาชีพ เช่น พนักงานเดินตลาด ลูกจ้าง และค้าขาย

 

ต่อมาด้วยเห็นว่าไม่รุ่งเลยเดินทางเข้ากรุงเทพมาช่วยพี่ชายทำงานร้านขายยาและเส้นทางหลังจากนั้น โกเหลียวก็สามารถทำให้มันแตกแขนงออกมาเป็นเรื่องราวความสำเร็จของกระทิงแดงอันยิ่งใหญ่ที่ต้องขอแยกไปกล่าวต่างหาก

 

สำหรับชีวิตส่วนตัว โกเหลียวสมรสกับ “นกเล็ก สดสี” และมีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่สายพิณ อยู่วิทยา,เฉลิม อยู่วิทยา,ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา,ส่วนบุตรสาวอีก 2 คน สื่อหลายสำนักรายงานชื่อไม่ตรงกันบางแหล่งระบุพิณทิพย์ กับ พึงใจ บางแหล่งระบุ อังคณา กับ รัญดา

 

อย่างไรก็ดี ต่อมาโกเหลียวสมรสใหม่กับ “ภาวนา หลั่งธารา” (ประธานกรรมการกระทิงแดงคนปัจจุบัน) และได้ร่วมกันบุกเบิกเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง”

 

กับภรรยาคนที่สองโกเหลียวมีบุตรด้วยกัน 6 คน ได้แก่ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, จิราวัฒน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา (ประธานเจ้าหน้าที่บริการกระทิงแดง ในปัจจุบัน ) และนุชรี อยู่วิทยา

  • เส้นทางนายห้างยา

เส้นทางอันเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตคนจนจากบ้านนาอย่างโกเหลียว คือ การเข้าเป็นพนักงาน บริษัท แลคเดอร์เล่ย์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายยาออริโอมัยจากต่างประเทศ

 

โกเหลียวหลังจากเป็นพนักงานได้ 7 ปี ได้ลาออกและมองถึงลู่ทางที่จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เขาจึงเปิดร้านขายยาและโรงงานผลิตยาเล็กๆ ด้วยตนเองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2499 ในชื่อว่า “หจก. ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล” โดยเช่าตึกที่ซอยรามบุตรี ถนนข้าวสาร โดยได้คิดค้นสูตรยาเป็นของตนเอง และให้โรงงานผลิตยาที่มีมาตรฐานในประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิต

 

ต่อมาเฉลียวได้ตั้งโรงงานผลิตยาที่ตรอกสาเก หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ภายใต้ชื่อ บริษัท ที.ซี. มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด และได้พัฒนายาตัวใหม่ วางขายภายใต้ชื่อ “ทีซี มัยซิน” เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาแก้ฝีหนอง ยาหยอดหู ยาหยอดตา

 

และได้มีการโฆษณายาทีซีมัยซินครั้งแรกทั้งในโรงหนัง หนังกลางแปลงตามงานวัด หนังเร่ วิทยุ รถแท็กซี่ และได้สร้างปรากฎการณ์การโฆษณาผ่านสื่อป้ายไฟบนหลังคารถแท็กซี่ครั้งแรกในประเทศไทย จนทำให้ “ทีซี มัยซิน” เป็นที่รู้จักในทันที

 

ต่อมา “หจก. ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล” ได้ย้ายโรงงานผลิตยาจากตรอกสาเก มาตั้งที่ถนนเอกชัย เขตบางบอน และเริ่มขยายกลุ่มสินค้าจากสินค้าประเภทกลุ่มยา ไปสู่กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภคประเภทอื่นๆ โดยเริ่มต้นสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางยี่ห้อ “แท็ตทู”

 

กระทั่งได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย จึงได้คิดค้นพัฒนาสูตรสินค้าประเภทเครื่องดื่มให้พลังงาน โดยนำไปทดสอบให้กลุ่มเป้าหมายได้ชิม จนมั่นใจในรสชาติ และคุณภาพของสินค้า จึงผลิตสินค้าออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ ในชื่อ “ทีโอเปล็กซ์-ดีไซรัพ” (100CC) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “กระทิงแดงคู่” ทำให้ผู้บริโภคเรียกขานกันติดปากว่า “เครื่องดื่มกระทิงแดง” จึงทำให้เกิด “เครื่องดื่มกระทิงแดง” (1500CC) ขึ้นในเวลาต่อมา

 

จากความสำเร็จของ “เครื่องดื่มกระทิงแดง” ในประเทศไทย ทำให้ คุณเฉลียว มองเห็นโอกาสของการนำสินค้าไทยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2521 ได้จัดตั้งบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตและส่งออกสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศสิงคโปร์ภายใต้ยี่ห้อ “เรดบูล (Red Bull)”

 

ต่อมาได้รู้จักกับ นายดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ซึ่งเป็นตัวแทนขายสินค้าอุปโภคให้กับบริษัท มีความสนใจนำสินค้า “เรดบูล (Red Bull)” ไปจำหน่ายในตลาดยุโรป จึงได้ร่วมกับคุณเฉลียวในการก่อตั้ง บริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ขึ้นในประเทศออสเตรีย (คุณเฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% คุณดีทริช 49%) และวางจำหน่ายกว่า 70 ประเทศทั่วโลกในขณะนั้น

 

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่พร้อมดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า “สปอนเซอร์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทยในยุคนั้นที่ไม่ต้องนำเกลือแร่แบบซองมาผสมน้ำ

 

ในปี 2531 ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการทำประชาสัมพันธ์ การจัดจำหน่าย และทำการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ และได้พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทย ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เช่น กาแฟกระทิงแดง กระทิงแดงโคล่า เป็นต้น

 

จากนั้นในปี 2539 เฉลียว มีแนวความคิดในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น จึงได้จัดตั้งบริษัท ทีจีเวนดิ้ง แอนด์โชว์เคสอินดัสทรีส์ จำกัด โดยนำนวัตกรรม ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ จากประเทศญี่ปุ่นมาติดตั้งตาม โรงงานอุตสาหกรรม

 

ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกล เฉลียวตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และรองรับการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จากเขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ไปยังอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 2,000 ไร่

 

และด้วยตลาดที่เติมโตอย่างต่อเนื่อง จึงได้เห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มโอกาสกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค โดยในปี พ.ศ. 2545 ได้จัดตั้ง บริษัท เดอเบล จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าแบบครบวงจร

 

ช่วงทศวรรษที่ 6ด้วยนโยบายพัฒนาการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ จึงมีการคิดค้น และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ทันสมัย ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบสนองต่อทุกความต้องการของผู้บริโภค

 

จนกระทั่ง ทศวรรษที่ 7 ปี 2561 กระทิงแดง เริ่มทศวรรษใหม่ แข็งแกร่งด้วยการผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจ TCP

 

ด้วยวิสัยทัศน์ในการยกระดับกลุ่มธุรกิจ TCP ขึ้นชั้น “บริษัทไทยที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก” และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทย จึงมุ่งมั่นผสานความแข็งแกร่งของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทั้งหมด คือ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด และบริษัท เดอเบล จำกัด ให้สามารถเดินหน้าสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน พร้อมกับการมุ่งยกระดับความเป็นอยู่และสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในทุกที่ที่ดำเนินธุรกิจ

 

สำหรับ “เจ้าพ่อกระทิงแดง” นอกจากความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจจนกระทั่งประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ท่านยังเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก ได้อุทิศกาย กำลังใจ และทุนทรัพย์ เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่เฉลียว อยู่วิทยาด้วย

 

อนึ่งเจ้าพ่อกระทิงแดงรุ่น 1 ได้เสียชีวิตช่วงเช้าของวันที่ 17 มีนาคม 2555 ด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีพิธีฌาปนกิจศพ ในวันที่ 24 มีนาคม 2555 ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลทั้งหมดจากเวบไซต์https://tcp.com/