คบได้ แต่อย่าไว้ใจ
วันที่ 19 ส.ค. 2564 เวลา 14:37 น.
โดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
**************
เห็นภาพ กลุ่มตอลิบันเข้ายึดอำนาจในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน อดีตประธานาธิบดีหนีตายเอาตัวรอดไปอยู่ต่างประเทศพร้อมกับทรัพย์สินมหาศาล ทหารอเมริกันที่เหลืออยู่หนีตายเอาตัวรอด คนอัฟกันกลุ่มหนึ่งตะเกียกตะกายขึ้นเครื่องบินลำเลียงอเมริกันหนีตายกันอย่างทุลักทุเล ดังที่ผู้อ่านได้เห็นภาพในโทรทัศน์กันแล้ว
ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนหลังถึงสองเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันซึ่งเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ก็ยังเป็นบทเรียนให้ประเทศที่คบหากับอเมริกันควรคำนึงถึง
ย้อนไปก่อนสิ้นสุดสงครามเย็น สหภาพโซเวียตในขณะนั้นได้ส่งทหารเข้ามายึดครองอัฟกานิสถาน สหรัฐและอังกฤษได้สนับสนุนและจัดตั้งกองโจรมูจาฮิดีน โดยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์หนักและเบาผ่านปากีสถานไปให้กองโจรมูจาฮีดีน ต่อสู้แบบกองโจรกับทหารโซเวียต รัฐบาลโซเวียตซึ่ง “ติดหล่ม” เก้าปี (ธันวาคม 2522 – กุมภาพันธ์ 2532) ในอัฟกานิสถาน แทบจะล้มละลายทางการเงินและเศรษฐกิจจากสงครามครั้งนี้
ในที่สุด โซเวียตต้องถอนทหารกลับประเทศอย่างสะบักสะบอม และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา ทำให้ประเทศบริวารต่าง ๆ แยกตัวออกเป็นอิสรภาพ แม้แต่สหภาพโซเวียตเองซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “รัสเซีย” ก็ซวนเซไปอีกหลายปีก่อนที่ประธานาธิบดีปูตินมาช่วยกู้ประเทศไว้จากความล่มจม และทำให้รัสเซียพัฒนาฟื้นคืนชีพจนอยู่ในแนวหน้าของโลกอย่างมีศักดิ์ศรี
ในขณะที่สหรัฐ “ติดหล่ม” ประมาณ 20 ปีในสงครามในอัฟกานิสถาน เสียงบประมาณจำนวนมหาศาลในแต่ละปีกับโครงการนี้จนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ทนไม่ไหว ครั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียคง “สะใจ” ไม่น้อย
ทหารอเมริกันตาลีตาเหลือกหนีออกจากอัฟกานิสถานแบบ “เสียหน้า” ทำให้นึกถึงช่วงที่สหรัฐติดหล่มอยู่ในสงครามเวียตนามหลายปี ในที่สุดก็ปล่อยให้เวียตนามเหนือเข้ายึดครองเวียตนามใต้และรวมสองประเทศเข้าด้วยกัน กลายเป็นประเทศเวียตนามในปัจจุบัน
ภาพของคนอัฟกันที่แย่งกันขึ้นเครื่องบินลำเลียงสหรัฐหนีออกนอกประเทศ คล้ายกับวันที่ คนเวียตนามมุ่งหน้าไปยังสถานทูตอเมริกันในวันที่เวียตกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อน แย่งกันขึ้นเฮลิคอปเตอร์สหรัฐที่กำลังลำเลียงเจ้าหน้าที่อเมริกันประจำสถานทูตหลบหนี คนเวียตนามกลุ่มหนึ่งแย่งยื้อกันขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อเอาชีวิตรอด ที่เอาสองเรื่องมาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่แสดงว่า อเมริกันเข้าไปที่ไหน ที่นั่นจะวุ่นวายยุ่งเหยิง ถ้าจะคบอเมริกันก็อย่าให้ใจไปร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสองตัวอย่างข้างต้นบ่งบอกให้เห็นว่า เมื่อถึงคราวตกทุกข์ได้ยาก อเมริกันก็ทิ้งเพื่อนเอาดื้อ ๆ
ประเทศไทยได้รับบทเรียนแบบนี้มาแล้วเต็ม ๆ เมื่อรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ทุ่มเทสนับสนุนอเมริกันอย่างเต็มทีในสงครามเวียตนาม ยอมให้สหรัฐสร้างฐานทัพอากาศหลายแห่งในประเทศ เช่นที่สัตหีบ นครราชสีมา นครพนม อุดรธานี อุบลราชธานี ตาคลี สร้างฐานทัพเรือที่อู่ตะเภา สัตหีบ ส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดในเวียตนามเหนือ ลาว เส้นทางโฮจิมินห์
หากเราเป็นคนเวียตนาม ก็ย่อมโกรธรัฐบาลไทยที่ยอมให้อเมริกันมาใช้ดินแดนส่งเครื่องบินไปโจมตีเวียตนามจนทำให้คนเวียตนามล้มตายบาดเจ็บนับล้านคน วันที่วอชิงตันเปลี่ยนนโยบายถอนทหารออกจากเวียตนามและลดบทบาทในภูมิภาคนี้ เขาไม่บอกผู้นำไทยแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้ไทยซึ่งทุ่มตัวจนแทบไม่เหลืออะไรต้องสู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว
หลังจากคอมมิวนิสต์ยึดครองเวียตนาม กัมพูชา ลาว ได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั่วโลกต่างมองว่า ไทยต้องเป็น “โดมิโน” ตัวต่อไป ไทยขณะนั้น ไทยเผชิญกับภัยคุกคามด้านการทหารขนาดใหญ่เมื่อฮานอยส่งทหารซึ่งกำลังฮึกเหิมรวม 15 กองพล เข้ามาในกัมพูชา โดยมี 8 กองพลกระจายอยู่ตามชายแดนกัมพูขา-ไทย และพร้อมที่จะเข้าโจมตีไทยหากได้รับไฟเขียวจากฮานอย แต่ฮานอยก็ต้องฟังเสียงจากมอสโคว์ซึ่งหนุนเวียตนามเหนือมาโดยตลอดระหว่างสงครามเวียตนาม
ทหารเวียตนาม ขณะนั้นคุยว่า หากได้รับไฟเขียว พวกเขาสามารถบุกเข้าถึงกรุงเทพได้ภายใน 8 ชั่วโมง เคยมีการปะทะกันที่ “โนนหมากมุ่น” โดยมทหารตายและบาดเจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ทหารปืนใหญ่ไทยถือว่ามีประสิทธิภาพดีมากที่สุดในลำดับต้นๆ ของโลก แต่ขณะนั้น ไทยขาดแคลนลูกกระสุนปืนใหญ่ที่จะใช้ป้องกัน ตอบโต้ ไทยขอความช่วยเหลือจากสหรัฐในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยโดยอ้างนโยบาย ไทยจึงต้องต่อสู้ดวยตนเอง
ในขณะที่ไทยต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้อพยพลาว เขมร รวมทั้งมนุษย์เรือจากเวียตนามใต้ รวมแล้วนับล้านคน
แต่ไทยสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยมาได้โดยการช่วยเหลือจากสาธารณะรัฐประชาชนจีน หรือ จีนคอมมิวนิสต์ ขณะนั้น ทั้งที่เราถือว่าเป็นศัตรูทางการเมืองเนื่องจากจีนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ที่กรรมการกลางส่วนใหญ่สนับสนุนจีน มีบางคนเท่านั้นที่สนับสนุนเวียตนาม
กลายเป็นว่า คนที่เรามองว่าเป็นศัตรูต่อเรา กลับมาช่วยเราในยามตกทุกข์ได้ยาก ส่วนคนที่เรามองว่าเป็นมิตรใกล้ชิดกับเรา กลับทอดทิ้งเราในยามเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน จากมิตรเป็นสัตรู และจากสัตรูกลายเป็นมิตร เวลานี้ สหรัฐกำลังจู่จี๋กับเวียตนามซึ่งมีชายแดนติดต่อกับจีน โดยสหรัฐลงทุนจำนวนมากในเวียตนาม ขณะเดียวกัน สหรัฐพยายามชักชวน โอ้โลม ปฏิโลมให้ไทยต่อต้านจีน และเลียบๆเคียงๆมาขอตั้งสิ่งที่คล้ายกับฐานทัพลอยน้ำในประเทศไทย
สนับสนุนนักการเมืองไทยไม่ว่าจะดีหรือชั่วแต่นิยมอเมริกา ให้ขึ้นสู่ หรือคืนสู่อำนาจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้ สหรัฐมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีเป็นทหาร แต่ก็ไม่ยอมทำตามใจที่อเมริกันต้องการ ซ้ำยังใกล้ชิดกับจีน
มีหลายคนเป็นห่วงเรื่องท่าทีของอเมริกันในไทยกับม็อบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เวลานี้ มีการแชร์โพสต์หนึ่งซึ่งสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า บ้านเมืองที่มันวุ่นวายอยู่เวลานี้ ม็อบออกมาก่อกวน เป็นเพราะสหรัฐพยายามโค่นรัฐบาลประยุทธ์เพราะไม่เล่นด้วยกับการต่อต้านจีน อ้างว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและพรรคการเมืองบางพรรคเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการโค่นรัฐบาลประยุทธ์
สิ่งที่อเมริกาต้องการก็คือ เปลี่ยนรัฐบาลประยุทธ์และเอารัฐบาลที่ตัวเองสั่งการได้ขึ้นมาแทน และสนับสนุนการบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์ นอกจากความพยายามโค่นรัฐบาลประยุทธ์แล้ว ผู้ชุมนุมประท้วงยังมุ่งโจมตีสถาบันกษัตริย์ด้วย จนอาจลุกลามไปเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่อเมริกาต้องการ
คนเขียนได้สรุปวิธีดำเนินการของสหรัฐว่า (1) ยุยงให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศ (เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ) (2) ทำลายสถานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ (3) สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลผ่านสื่อหลักของโลกตะวันตก เพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า ผู้ชุมนุมได้รับการยอมรับในเวทีโลก (4) สนับสนุนการชุมนุมประท้วง การจลาจล ความรุนแรง จนถึงสงครามกลางเมืองในประเทศ เพื่อล้มล้างรัฐบาล ฯลฯ
ตนเขียนสรุปว่า ได้มองภาพนี้ออกตั้งแต่อเมริกาไม่ประสบความสำเร็จที่ฮ่องกง ว่าเป้าหมายต่อไปคือเมืองไทย ซึ่งเริ่มเห็นเป็นรูปร่างจริงๆแล้วในวันนี้สอดคล้องกับที่หลายฝ่ายเคยวิเคราะห์ก่อนหน้านี้แล้วว่า จากฮ่องกงที่สหรัฐไม่ประสบความสำเร็จเพราะจีนบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เป้าหมายต่อไปก็คงเป็นไทย วันนี้ในไทย มีการชุมนุมประท้วง การใช้ความรุนแรง เพื่อขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ และการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และยั่วยุให้ตำรวจใช้ความรุนแรงปราบปราม แกนนำเคลื่อนไหวบางคนมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสถานทูตอเมริกันเสียด้วย
เริ่มต้นจากอเมริกันในอัฟกานิสถาน มาลงท้ายที่อเมริกันในไทย ซึ่งพอสรุปได้อย่างหนึ่งคือ อเมริกันนั้น คบเป็นเพื่อนได้ แต่อย่าไว้ใจ (จบ)