20 มิถุนายน 2564
71
ก้าวไกล จี้รัฐบาลเปิดสต๊อกวัคซีนโควิด แจงจัดสรรพนักงานบริษัทดัง-ครอบครัว7หมื่นคน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีที่มีหนังสือราชการจากปลัดกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงปลัดกรุงเทพมหานคร โดยลงวันที่ 17 มิถุนายน 2564 มีรายละเอียดสำคัญคือให้แต่ละจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร จัดสรรวัคซีนให้กับพนักงานและครอบครัวของพนักงานบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยมีพนักงานจำนวน43,201 คน และครอบครัวอีก 28,214 คน รวมทั้งหมดเป็น 71,445 คน โดยอ้างว่าเป็นการจัดสรรให้กับภาคเอกชนที่มีภารกิจและมีโครงสร้างการดำเนินงานในส่วนภูมิภาค มีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่อยู่หลายจังหวัด ผมเข้าไปดูเอกสารแนบก็พบว่า มีการร้องขอให้จัดสรรให้พนักงานและครอบครัวในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 19,538 ราย// ชลบุรี 2,725 ราย//นครปฐม 2,616 ราย//ราชบุรี 1,039 ราย
นายวิโรจน์ระบุว่าเหตุที่ตนยกตัวอย่าง 4 จังหวัดนี้ขึ้นมา เพราะว่าใน 4 จังหวัดนี้ยังพบปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีนอย่างหนักหนาสาหัสขณะที่ ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เคยกล่าวไว้ว่าการเลื่อนการฉีดวัคซีนและมีคนตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
จากการเลื่อนฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ลงทะเบียนผ่านอปพลิเคชั่นหมอพร้อมที่เป็นระบบทางการลงตามระเบียบของทางราชการ และพวกเขาถูกจัดให้เป็นกลุ่มแรกที่จะได้ฉีดวัคซีน เพราะหากติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเกิดอาการหนักและมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต โดยผู้ว่ากรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าในวันที่ 15-20 มิถุนายน มีผู้ลงทะเบียนที่เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวตกค้างจากระบบหมอพร้อมอยู่ประมาณ 1.4 แสนรายและจากระบบไทยร่วมใจอีก 1.7 แสนราย รวมแล้วมีผู้ตกค้างอยู่ประมาณ 3.1-3.2 แสนราย ส่วน 3 จังหวัดที่เหลือได้แก่ ชลบุรี นครปฐม ราชบุรี ก็ยังมีประชาชนตกค้างอยู่และประชาชนยังต้องคอยตรวจสอบว่าตนเองจะได้ฉีดวัคซีนหรือไม่
จากประเด็นข้างต้น ตนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สต็อกวัคซีนที่ทางปลัดกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าทุกจังหวัด รวมถึงปลัดกรุงเทพฯให้จัดสรรวัคซีนให้กับเอกชนทั้งรายนี้และรายอื่นๆด้วยนั้นเป็นสต็อควัคซีนที่กันเอาไว้สำหรับการสนับสนุนในรูปแบบนี้ต่างหากหรือไม่ หรือไปเอาสต็อควัคซีนจากการจัดสรรชองกระทรวงสาธารณสุข ที่เอาไว้ฉีดให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนเอาไว้สรุปง่ายๆ คือ สต็อควัคซีนมีการกันเอาไว้ต่างหาก หรือไปตัดจากหน้างานเอามาให้คนกลุ่มนี้
ดังนั้นตนจึงขอเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องตอบคำถาม3ข้อต่อไปนี้ต่อพี่น้องประชาชน
1.หากเอาสต็อคจากหน้างาน และการจัดสรรสต็อคไม่ได้คำนึงถึงโครงการการสนับสนุนอย่างนี้เลย ก็จะทำให้ประชาชนที่จองคิวและรอฉีดวัคซีน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเกิดการตกค้าง ถูกลอยแพได้
ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงว่าสต็อคนี้มีการกันเอาไว้ต่างหากไว้หรือไม่
2.พนักงานของบริษัทเอกชนไม่ใช่เพียงแต่บริษัทนี้เท่านั้นรวมถึงบริษัทอื่นๆด้วย เชื่อว่าในจำนวนของพนักงานบริษัทเอกชนแห่งนี้รวมถึงครอบครัวน่าจะมีการลงทะเบียนผ่านระบบทางการของรัฐบาลหรือระบบทางการของแต่ละจังหวัดแล้ว จึงขอความชัดเจนว่าฐานข้อมูลได้มีการจัดการความซ้ำซ้อนในส่วนนี้ออกไปแล้วหรือไม่ หากฐานข้อมูลในการลงทะเบียนมีความซ้ำซ้อนกันก็จะนำไปสู่ปัญหาการจัดการสต็อกวัคซีนในระยะยาวต่อไป
3.อยากให้มีการเปิดเผยว่าบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนในลักษณะนี้อีกกี่บริษัทคิดเป็นจำนวนวัคซีนเท่าใด หากเชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องแรกคือสต๊อกวัคซีนที่จัดสรรในรูปแบบนี้เป็นการกันเอาไว้อยู่แล้วหรือเอามาจากสต็อกที่จัดส่งไปตามจังหวัดต่างๆหน้างานเราก็จะทราบว่าสต็อกที่ผ่านการสนับสนุนในรูปแบบนี้มีปริมาณเท่าไร
ดังนั้นทั้งสามข้อเรียกร้องดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็นต้องเปิดเผยเพราะรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขย้ำเสมอว่า กระทรวงสาธารณสุขส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆครบถ้วนเพียงพอ แต่การจัดสรรวัคซีนเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของศบค.โดยไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข
ดังนั้นหากสต็อกวัคซีนไม่ถูกกันไว้ใช้เพื่อโครงการนี้ต่างหาก แต่ไปหักเอาจากสต็อกวัคซีนที่กันไว้สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบโครงการหมอพร้อม นั่นย่อมเกิดปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้วิโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากหนังสือของปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ลงวันที่17 มิถุนายน ถ้าย้อนกลับไปท่านออกหนังสือตามคำร้องขอของบริษัทเอกชนแห่งนี้ซึ่งทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 8 มิถุนายน โดยหนังสือของบริษัทเอกชนรายนี้ศธ 0410.7/ว543 ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ระบุว่า
คณะกรรมาการโรคติดต่อแห่งชาติได้เปิดโอกาสให้องค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคคลากรทำงานอยู่ในส่วนภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศสามารถขอรับวัคซีนเพื่อไปฉีดให้กับบุคลากรของตนเองโดยจัดหาสถานพยาบาลในการฉีดเองได้ หนังสือฉบับนี้ลงวันที่ 18พฤษภาคม2564 และหากถามว่าลงวันที่18พฤษภาคม มีความสำคัญอย่างไร เพราะหากย้อนกลับไปดูหนังสือของคณะกรรมากรโรคติดต่อแห่งชาติใครเป็นประธานก็พบว่าโดยตำแหน่งแล้วประธานคือรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นหากพิจารณาถึงตรงนี้แล้วผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็น่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขใช่หรือไม่ สิ่งที่ท่านเคยพูดว่าส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆแล้ว ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของจังหวัดนั้นๆในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามต้องตามต่อว่าผู้ที่ต้องรับชอบเรื่องนี้อย่างแท้จริงคือใคร
นายวิโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตลึกลงไปอีกว่าหากยังจำกันได้เมื่อวันที่27เมษายน 2564 มีมติครม.รวบอำนาจพรบ.31ฉบับไว้ให้กับนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพรบ.โรคติดต่อเป็น1ใน31ฉบับนี้ด้วย ดังนั้นจึงหมายถึงว่าหนังสือที่ออกไปยังบริษัทเอกชนดังกล่าวให้สามารถขอจัดสรรวัคซีนเข้ามาที่ลงวันที่ลงวันที่18พฤษภาคม2564 ประธานของคณะกรรมการโรคติดต่อที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดไม่ใช่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแต่เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องเป็นการเร่งด่วน ให้นายกรัฐมนตรีออกมาตอบคำถามทั้ง3ข้อ ที่ได้เรียกร้องไปข้างต้นถึงความชัดเจนในการเอื้อประโยชน์ในการ จัดสรรวัคซีนให้บริษัทเอกชนดังกล่าวโดยด่วน