22 มีนาคม 2564
137
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประกาศแล้ว 160 รายชื่อสหกรณ์ขนาดใหญ่ สินทรัพย์เกิน 5 พันล้านบาท เผยกรมฯพร้อมเป็นพี่เลี้ยงทำงานไปด้วยกันเพื่อความมั่นคงของระบบสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องรายชื่อสหกรณ์ขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 ทั้งนี้ เป็นการประกาศตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 มาตรา 89/2(1) และมาตรา 105 วรรค 3 ที่กำหนดให้มีการออกกฎกระทรวงการดำเนินงานและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กำหนดให้สหกรณ์แบ่งเป็นสองขนาด คือ สหกรณ์ขนาดใหญ่และสหกรณ์ขนาดเล็ก อาศัยอำนาจตามความในกฎกระทรวงการดำเนินงานและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ข้อ2 ข้อ 26 กำหนดให้สหกรณ์ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป และชุมนุมสหกรณ์ เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่
“ข้อมูล ณ วันที่ 15 มี.ค.2564 มีชุมนุมสหกรณ์ขนาดใหญ่ 13 แห่ง สหกรณ์ขนาดใหญ่ 147 แห่ง ซึ่งในอนาคตอาจมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามขนาดของสินทรัพย์ ทั้งนี้ สหกรณ์ขนาดใหญ่จะต้องเริ่มปฏิบัติตามกฎกระทรวงการดำเนินการและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2564 ซึ่งกรมจะจัดให้มีการจัดเวทีเสวนาแนวทางปฏิบัติให้กับสหกรณ์ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เบื้องต้นเริ่มที่สหกรณ์ในเขตกรุงเทพ ทั้งที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อกำหนดเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ที่สหกรณ์เหล่านี้ต้องปฏิบัติดังนั้นในช่วง 1-2 ปีนี้ กรมจึงมีนโยบายว่าจะใช้แนว การทำงานส่งเสริมเป็นหลัก เพื่อให้มีการปฏิบัติให้ได้ก่อน นอกจากนี้กรมจะออกคู่มือให้เป็นแนวปฏิบัติออกมาอีกด้วย กรมฯจะไม่เร่งรัด แต่จะใช้หลักเดินไปด้วยกันกับพี่น้องชาวสหกรณ์ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับระบบสหกรณ์ทั่วประเทศ” นายวิศิษฐ์กล่าว
ด้านนายสุรพล พงษ์เมธีอภิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า กล่าวในการชี้แจงต่อผู้ร่วมประชุมในเวทีเสวนาฯ ว่ากฎกระทรวงฉบับนี้มีด้วยกัน 5 หมวด ประกอบด้วยการกำหนดขนาดของสหกรณ์ หมวด 2 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมและผู้จัดการ หมวด 3 การดำรงเงินกองทุนของชุมนุมสหกรณ์ หมวด 4 การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลของสหกรณ์ หมวดที่ 5 การบัญชีและการรายงานข้อมูล และบทเฉพาะกาล
ทั้งนี้ ได้กำหนดนิยามของสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ คณะกรรมการและกรรมการ และขนาดของสหกรณ์ แยกเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ คือ สหกรณ์ที่มีขนาดสินทรัพย์ 5 พันล้านบาทขึ้นไป ส่วนขนาดเล็ก คือ สินทรัพย์ น้อยกว่า 5 พันล้านบาท โดยขนาดของสินทรัพย์ให้พิจารณาจากงบการเงินของสหกรณ์ในปีบัญชีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว และการจะออกจากการเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ เมื่อยื่นคำร้องแล้ว นายทะเบียนสหกรณ์จะเป็นผู้พิจารณา ภายใน 30 วัน
สำหรับอำนาจหน้าที่ของกรรมการนั้นกำหนดให้ สหกรณ์ต้องมีการกำหนดนโยบาย ทิศทางเป้าหมายกลยุทธ์ในการทำงาน ต้องมีข้อกำหนดจริยธรรม และจัดให้มีการกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของสหกรณ์ โดยอย่างน้อยต้องครอบคลุมความเสี่ยงด้านสินเชื่อการลงทุน
ทั้งนี้ กฎกระทรวงยังกำหนดให้บุคคลเป็นกรรมการสหกรณ์ได้เพียง 1 แห่ง และสหกรณ์ต้องมีกรรมการ ที่มีคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี การบริหารจัดการด้านเศรษฐศาสตร์ หรือผ่านการอบรมตามหลักสูตรในด้านดังกล่าวหรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด อย่างไรก็ตามในบทเฉพาะกาลได้กำหนดว่ากรณีที่กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ขนาดใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระหรือกำหนดสัญญาจ้าง และให้สหกรณ์ดำเนินการให้มีกรรมการสหกรณ์ ที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดภายใน 6เดือนนับแต่สหกรณ์มีกรรมการชุดใหม่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 2 ปีนับแต่กฎกระทรวง ใช้บังคับ