เปิดยุทธศาสตร์ “สายมู” ต่อสู้ด้วยความเชื่อ หรือ “สายมูเตลู” คำนี้มีที่มาจากชื่อภาพยนต์เก่าอายุกว่า 25 ปีของอินโดนีเซียเรื่อง “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์”
“ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็ต้องเอาด้วยคาถา” เมื่อต้องต่อสู้ไม่ว่าจะในสมรภูมิใดก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ไม่เว้นแม้กระทั่งการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ขณะนี้มีการต่อสู้ “สายมูเตลู” เชื่อกันว่าคำนี้มีที่มาจากชื่อภาพยนต์เก่าอายุกว่า 25 ปีของอินโดนีเซียเรื่อง “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์”
ในบริบทของสังคมไทย หมายถึง การบูชาและความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องราง ของขลัง ไปจนถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่มีความหมายเชิงบวก สื่อถึงการเสริมดวงชะตาชีวิตด้านต่างๆ และเมื่อขยับมาถึงเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง กรุงเทพธุรกิจคุยกับคนรุ่นใหม่ 3 ราย ที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องของความเชื่อและศรัทธาแตกต่างกัน
เริ่มต้นจาก ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว นักวิชาการอิสระ เจ้าของผลงาน “ครูบาคติใหม่ เปิดศรัทธาที่ซ่อนอยู่ก้นบาตรสงฆ์” ณัฐพงศ์กล่าวว่า ความเชื่อทั้งผี-พราหมณ์-พุทธ เป็นพื้นฐานความเชื่อที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและมีอิทธิพลกับการเมืองไทยมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“เราเชื่อกันว่าอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่างเหล่านี้สามารถดลบันดาลหรืออำนวยอวยชัย หรือแม้กระทั่งทำร้ายทำลายอำนาจของคนบางคนได้ ความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จึงถูกนำมาใช้ในทางการเมืองด้วยเสมอมา”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากสภาวะความไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิตของมนุษย์อยู่แล้วโดยพื้นฐาน และ “การเมือง” ก็เป็นเรื่องของต่อสู้ช่วงชิงทางอำนาจ เมื่อเกิดความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในทางอำนาจของตัวเอง
“ผู้มีอำนาจจึงต้องหาอะไรมาเป็นเครื่องมือ หนึ่ง ทั้งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตนเอง และ สอง ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับคู่ต่อสู้ทางการเมือง เป็นมาแบบนี้ทุกยุคทุกสมัยครับ”
ณัฐพงศ์ยกตัวอย่างความเชื่อทางการเมืองที่มีให้เห็นมากมาย เช่น “คนเสื้อแดงเทเลือด” เรื่อง “หมุดคณะราษฎรหาย” มีการเปลี่ยนหมุดหน้าใสมาแทน หรือแม้แต่เรื่องการฝังหมุดใหม่ของกลุ่มคณะราษฎรใหม่ ล้วนเกี่ยวพันกับความเชื่อทั้งสิ้น
ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ณัฐพงศ์มองว่า “มูเตลู” เป็นสิทธิเสรีภาพทางความเชื่อและศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีความหลากหลายทางความเชื่อแบบสังคมไทย
“ในแง่การต่อสู้ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องท้าทายมากด้วยทั้งในแง่การต่อสู้ทางการเมือง และในแง่การทำความเข้าในหลักการประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย”
ณัฐพงศ์ขยายความถึง “ความท้าทาย” ว่า การต่อสู้รอบนี้เป็นการต่อสู้สองทาง 1) การต่อสู้ทางความเชื่อกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ยังคงเชื่อเรื่องนี้อย่างสนิทใจ
“ย้ำนะครับว่าเชื่ออย่างสนิทใจ ซึ่งพิจารณาจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะหมุดคณะราษฎรหนึ่งหาย เปลี่ยนหมุดหน้าใสมาแทน หรือแม้แต่การที่ตำรวจทหารพยายามกันกลุ่มคณะราษฎรใหม่ไม่ให้ไปถึงศาลหลักเมือง ไม่พอยังมีโหรออกมายอมรับอีกว่า พิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติต่อบ้านเมืองอะไรแบบนี้ครับ”
ณัฐพงศ์เรียกสิ่งนี้ว่า “เกมจิตวิทยา” ไม่มีใครรู้ว่าทำแล้วส่งผลจริงหรือไม่ แต่ส่งผลทางจิตวิทยาแน่นอน เข้าทำนอง “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
2) นอกเหนือจากการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามแล้วยังต้องต่อสู้กับความคิดของตนเอง กลุ่มเยาวชนนักศึกษาหรือกลุ่มก้าวหน้าต้องเปิดใจยอมรับว่า “เสรีภาพทางความเชื่อและศาสนา” เป็นเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย
“ปัญหาตอนนี้เรามักมองกันว่า เสรีภาพทางโลกหรือหลักการประชาธิปไตยเป็นเรื่องทางโลก ไม่ควรเอาไปยุ่งเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งจริงๆ แล้วความเข้าใจแบบนี้คือความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะเสรีภาพไม่ว่าจะทั้งทางโลกหรือทางศาสนา อยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน”
การต่อสู้ของสายมูเตลู ในฐานะนักวิชาการณัฐพงศ์มองว่า มีจุดแข็งคือนี่เป็นเกมจิตวิทยา
“ล่าสุดมีโหรออกมาบอกอีกว่า การทำพิธีของราษฎรสายมูฯ ที่เสาหลักเมือง เป็นเรื่องที่จะสร้างภัยพิบัติ โอ้โห้…เข้าทางเด็กเลยครับ คือ ที่เด็กทำเราไม่รู้หรอกว่าเด็กเชื่อหรือไม่ แต่แน่นอน ผู้ใหญ่ที่เด็กกำลังท้าทายเชื่อเรื่องนี้ นี่คือการทำลายขวัญและกำลังใจของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้ดีที่สุด นี่คืออาวุธเดียวที่เรากำลังมี เราไม่มีปืน ไม่มีรถถัง แต่เรามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อยู่ในมือและเรากำลังพยายามต่อรองกับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นว่า “ให้มาอยู่ฝ่ายประชาชนนะ” เพราะประชาชนอยู่ยั้งยืนยง”
ส่วนจุดอ่อนอยู่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจสายมูฯ อาจเป็นเพราะเชื่อวิทยาศาสตร์จึงมองว่าไร้สาระ หรือมองข้ามเรื่องเสรีภาพทางความคิดความเชื่อและศาสนา คิดว่าศาสนากับเรื่องทางโลกไม่เกี่ยวข้องกัน
“กรณีนี้ผมก็โดนด่ามาเยอะเหมือนกันครับ เมื่อครั้งเคยไปชูป้ายเรื่องให้ยอมรับความหลากหลายทางเพศในหมู่พระตุ๊ดเณรแต๋วครับ พอมันเกิดความไม่เข้าใจแบบนี้ มันจึงทำให้บางคนไม่อินกับการต่อสู้ และ มองในแง่ลบว่า ทำไปทำไม ไหนบอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่ไง แต่ทำไมไปเชื่อเรื่องอะไรแบบนี้ ผมคิดว่าอันนี้คือจุดอ่อน”
ในประเด็นเรื่องที่ถูกมองว่าเป็น “ความงมงาย” ณัฐพงศ์ชี้ว่า มูเตลู เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่ง ไม่ควรดูถูก กดทับ หรือขัดแย้งกันเอง เขาแนะนำห้ “เคารพในความเชื่อของคนอื่น” หากความเชื่อนั้นไม่ได้มาทำร้ายทำลายกดขี่ข่มเหงประชาชน
จากการที่ได้ศึกษางานด้านศาสนาและความเชื่อ ณัฐพงศ์พบว่า ภายใต้สิ่งที่หลายคนมองว่างมงาย กลับสะท้อนปัญหาอะไรบางอย่างของผู้คนในสังคมออกมา ตนรู้จักผู้ศรัทธาครูบารายหนึ่ง เรียนจบครุศาสตร์ สอบบรรจุได้ในลำดับกลางๆ แต่ไม่รับการบรรจุเข้าทำงานเสียที เจ้าตัวเชื่อว่าเพราะเขาเป็นเด็กบ้านนอก ลูกชาวไร่ชาวนา ไม่มีเส้นสาย คนที่ได้รับการบรรจุคือชนชั้นอภิสิทธิ์ที่มีตั๋วช้าง เขาจึงไปไหว้ครูบาให้อำนาจศักดิ์สิทธิดลบันดาล ซึี่งไม่นานก็ได้รับเรียกบรรจุเข้ารับราชการครูจริงๆ
“เราไม่รู้หรอกว่า อำนาจศักดิ์สิทธิ์ช่วยเขาได้จริงไหม แต่สิ่งเหล่านี้มันสร้างขวัญและกำลังใจให้เขา ไม่เพียงเท่านั้นมันยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทยได้อีกด้วย อันนี้ก็เป็นเคสที่น่าสนใจครับ”
ณัฐพงศ์กล่าวด้วยว่า ในโลกตะวันตกเขาก็นับถือศาสนา แต่ไม่มีศาสนาไหนดีกว่าศาสนาไหน หรือความเชื่อไหนสูงส่งกว่าความเชื่อไหน เช่น ศาสนาเบคอนก็มีคุณค่าเท่ากันกับศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ อิสลาม เขามีเสรีภาพที่จะเชื่อและจะไม่เชื่อ หรือไม่นับถือศาสนาด้วย
ในช่วงท้าย นักวิชาการหนุ่ม เล่าถึงความเชื่อมหากาพย์ตำนานอาถรรพ์งู 4 ตัวกับการล่มสลายของบางสิ่งบางอย่างที่หลายคนเชื่อมาก รวมถึงเมียนมาที่มีความเชื่อสายมูไม่ต่างจากไทย ผู้นำเมียนมามีหมอดูประจำตัว
“ผมอ่านเจอในบทความของ อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง แกเล่าถึงเรื่องเล่านัตอะมาดอว์เมียะ หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “เทพกระซิบ”โดยมีเรื่องเล่าลือกันว่า ในสมัยเมียนมาปกครองโดยเผด็จการทหาร ผีนัตตนนี้ไปเข้าฝันด่านายพลตานฉ่วยว่า “เลิกกดขี่ประชาชนได้แล้ว” พอนายพลตานฉ่วยตื่นขึ้นมาก็สั่งให้คนเอาโซ่ไปล่ามเท้ารูปปั้นเทพกระซิบเลย เพราะกลัวว่าจะมาเข้าฝันอีก เทพกระซิบเลยถูกล่ามโซ่มาจนเขามาปลดออกหลังยุคตานฉ่วย”
ณัฐพงศ์สรุปว่า สำหรับคนที่เชื่อ ถ้าโดนจี้จุดด้วยความเชื่อต้องเสียขวัญแน่ๆ หากมองมูเตลูเป็นเกมการต่อสู้ก็สนุกดี คนรุ่นใหม่ไม่มีใครรังเกียจกระแสมูเตลู แต่อาจยังสับสนอยู่ว่าฉันจะทำความเข้าใจมันอย่างไรดี
ยุทธจักร ดำสุวรรณ ครีเอทีฟ ผู้กำกับเจ้าของโปรดักซ์ชั่นเฮาส์ และหมอดูขวัญใจค่ายประชาธิปไตย แอดมินเพจ หมอดูสาระแน เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องดวง เนื่องจากสนใจปรัชญาหาสัจธรรมชีวิต การดูดวงในแง่จักรราศี ซึ่งโหราศาสตร์ไทยมีการคำนวนดวงดาว มีทฤษฎีเป็นเรื่องสถิติอธิบายมนุษย์และธรรมชาติจึงสนใจศึกษา
“การดูดวงเป็นเรื่องคู่กับคนทุกรุ่นเสมอมา เพียงแต่ถูกทำให้ด้อยค่าจากกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์คลาสสิค” หมอดูรายนี้ย้ำ ส่วนการต่อสู้สายมูเตลูในทัศนะของเขามองว่า ทักษะเชิงโหราศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตยยังจำกัด
“เราควรเข้าใจตรรกศาสตร์ของฝ่ายอนุรักษนิยมในแง่โหราศาสตร์จริงๆ ไม่ว่าการแก้เคล็ด การป้องกันดวงเมืองต่างๆ แม้การวางสิ่งของที่เรามองข้าม เช่นจักรยานที่เคยวางรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มันคือหลักการของโหราศาสตร์ทั้งหมดเพียงแต่ทำกันเนียนๆ หากฝ่ายประชาธิปไตยจะเล่นกันเรื่องมูเตลูควรทำอย่างมีภูมิ ไม่เช่นนั้นจะเปล่าประโยชน์ อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องงมงาย ทำอะไรมั่วๆข่มขวัญเขาแล้วฝ่ายอนุรักษนิยมจะกลัว เขามองออกว่ามันมั่วเพราะผมก็มองออก” ยุทธจักรกล่าว พร้อมย้ำว่า การต่อสู้แนวนี้จะทำอะไรก็ทำไปเลยแต่ขอให้รู้จริง จะสาปแช่งก็เอาให้จริง จะบวงสรวง ขึ้นป้าย ประกาศตนต่างๆเพื่อความรุ่งโรจน์ก็ทำให้จริง
เมื่อฝากดูดวงรัฐบาลว่าเมื่อใดจะอ่อนแรง เหมาะแก่การ “โค่น”
“หลังมีนา 65 ค่อยว่ากัน ปีนี้อำนาจเก่าจะแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะช่วง เมษา-ปลายกันยา” หมอดูรุ่นใหม่ย้ำ
จากผู้รู้สู่นักปฏิบัติ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี ตัวแทนกลุ่มราษฎรมูเตลู กล่าวว่า การเคลื่อนไหวแบบมูเตลูคือการเคลื่อนไปกับความเชื่อ อะไรก็ได้ที่ชนชั้นนำเชื่อเราก็เชื่อได้ กลุ่มราษฎรมูเตลูจัดกิจกรรมมาแล้ว 2 ครั้ง ยอดไลค์ในเพจเพิ่มขึ้นมาก (วันที่ 27ก.พ. มีคนไลค์ 6,842คน ติดตาม7,794คน)
เน้นให้ข้อมูลเรื่องความเชื่อว่า ฝั่งโน้นเป็นอย่างไร ของฝั่งราษฎรเป็นอย่างไร และเสียงตอบรับจากคนรุ่นใหม่ก็มีมาก
“ฟ้าไม่ได้อยากได้การตอบรับจากคนเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่คอนเซ็ปต์หลักคือ ถ้าชนชั้นนำเชื่อ ประชาชนก็มีสิทธิเข้าถึงความเชื่อนั้นเช่นกัน”
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ งมงาย ตัวแทนกลุ่มราษฎรมูเตลูอธิบายว่า รากของประเทศไทยอยู่กับความเชื่อมาโดยตลอด เป็นความเชื่อที่ไม่ได้อยู่ในบริบทของศาสนา
“เราก็ทำให้ความเชื่อมันถูกต้องยิ่งขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้เห็นแก่นแท้ของความเป็นประเทศเรามากขึ้น ตัวอย่างเช่นความเชื่อต่างๆ ที่ชนชั้นนำมีพิธีกรรม ประชาชนก็มีพิธีกรรมเหมือนกัน ในอนาคตราษฎรมูเตลูอาจนำพิธีกรรมของราษฎรกลับมาทำก็ได้ ให้ประชาชนได้เห็นว่าความเชื่อไม่ได้มีแค่ฝ่ายเดียว แต่ประชาชนตามภูมิภาคต่างๆ ก็มีความเชื่อเช่นเดียวกัน และมีพิธีกรรมในเรื่องเดียวกันเสียด้วยซ้ำ”
กลุ่มราษฎรมูเตลูทำกิจกรรมมาแล้วสองครั้ง คืองานรฤกคุณ คนดีมีค่าแห่งประชาธิปไตย ครั้งที่ 1 ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และงานรฤกคุณคนดีมีค่า แห่งประชาธิปไตยครั้งที่ 2 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุุลาฯ ซึ่งล้วนเป็นงานทำบุญ ส่วนการจัดกิจกรรมแบบมูเตลูจริงๆ นั้น พรหมศรเผยว่า “ไปดูฤกษ์มาแล้ว จะจัดขึ้นในเดือน มี.ค.นี้”