การแข่งขัน ‘โอลิมปิก 2021’ ที่เลื่อนมาจากปี 2020 กำลังจะเปิดฉากขึ้นแล้ว ณ วันศุกร์ที่ 23 ก.ค. นี้…ชวนดู 10 เรื่องต้องรู้โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ กองทัพนักกีฬาไทยลงแข่งอะไรบ้าง พร้อมทุกช่องทางรับชม
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าว่างานโอลิมปิกปีนี้เรียกว่า “โอลิมปิก 2021” ที่จริงแล้วยังคงต้องเรียกงานในครั้งที่ 32 นี้ว่า “โอลิมปิก 2020” เหตุผลคืออะไร ไปตามหาคำตอบได้กับ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ที่นี่
หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการจัดงาน “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32” ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ที่จะเปิดฉากขึ้นเสียที และปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีสิ่งที่เป็นทีเด็ดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ชวนดู “10 เรื่องน่ารู้โอลิมปิกเกมส์, กองทัพนักกีฬาไทยลงแข่งอะไรบ้าง พร้อมช่องทางรับชมการถ่ายทอดสด”
10 เกร็ดเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “โอลิมปิกเกมส์” ครั้งนี้!
1.สรุปเรียก ‘โอลิมปิก2020’ หรือ ‘โอลิมปิก 2021’ ?
ถึงแม้งานโอลิมปิกครั้งที่ 32 นี้จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2021 (พ.ศ. 2564) แต่ทางประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งชื่องานอย่างเป็นทางการ ตามปีที่ต้องจัดงานไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า “โตเกียวโอลิมปิก 2020” ดังนั้นถ้าจะใช้คำเรียกการจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ให้ถูก จึงต้องใช้/เรียกเป็น “โอลิมปิกเกมส์ 2020” จึงจะถูกต้อง
2.การแข่งขันเริ่มเมื่อไหร่-จบวันไหน?
– “พิธีการเปิด” งานโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ ณ สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น: 23 กรกฎาคม 2564
– “พิธีปิด” งานโอลิมปิก: 9 สิงหาคม 2564
สิริรวมทั้งหมด 18 วัน
3.การแข่งขันปีนี้มีการกีฬาทั้งหมดกี่ชนิด กีฬาอะไรน่าสนใจบ้าง?
มีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 33 ชนิด/ รอบการแข่งขัน 339 รอบ/ รอบชิง 41 รอบ
กีฬาที่น่าสนใจในครั้งนี้ (ทั้งถูกนำกลับมาทำการแข่งขัน และกีฬาชนิดใหม่):
เซิร์ฟ, สเกตบอร์ด, ปีนหน้าผา, เบสบอลชาย, ซอฟต์บอลหญิง, คาราเต้, บาสเกตบอล, รักบี้, กอล์ฟ และบีเอ็มเอ็กซ์ฟรีสไตล์
ภาพ: AFP
4.มีผู้ร่วมการแข่งขันทั้งหมดกี่คน ตกลงมีผู้ชมไหม?
ล่าสุดผู้ว่าฯโตเกียวหารือกับนายกฯญี่ปุ่น สรุปว่า “ไม่ให้มีผู้ชมในสนาม แต่จะมีนักกีฬา-เจ้าหน้าที่ไม่เกินประมาณ 1 หมื่นคน”
โดยในมาตรการสำหรับการแข่งขันยังคงไม่มีผู้ชมจากต่างประเทศเข้าร่วมชมเหมือนเดิม และอีกเหตุผลสำคัญผู้ว่าโตเกียวกล่าวว่า บางสถานที่จัดแข่งได้ทำการปรับใช้เป็นจุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แทน
5.ผู้เข้าแข่งขันอายุน้อย-มากที่สุด ประจำการแข่งขันปีนี้คือ?
ผู้เข้าแข่งขันอายุน้อยที่สุด: “เฮนด์ ซาซา” (Hend Zaza) อายุ 11 ปี จากประเทศซีเรีย เข้าแข่งขันเทนนิส
ผู้เข้าแข่งขันอายุมากที่สุด: “หนี่ เซียะ เหลียน” (Ni Xia Lian) อายุ 57 ปี จากประเทศจีน เข้าแข่งขันปิงปอง
ภาพ: AFP
6.“นักกีฬาข้ามเพศคนแรก” ในประวัติศาสตร์การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ คือใคร?
นักกีฬาข้ามเพศคนแรกของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ประจำปีนี้คือ “ลอเรล ฮับบาร์ด” (Laurel Hubbard) อายุ 43 ปี เข้าแข่งขันยกลูกเหล็ก โดยทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้อนุมัติด้วยเหตุผลที่ว่า เธอมีเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) ไม่เกินกว่าที่กำหนดในเวลา 1 ปี
ภาพ: AFP
7.เบื้องลึก โลโก้ “โตเกียว 2020”
โลโก้ “โตเกียว 2020” นี้ใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการจัดงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ ออกแบบโดย “อาซาโอะ โทโคโละ” (Asao Tokolo) ใช้สีน้ำเงินโทนอินดิโก้สื่อถึงความสง่างาม-ความซับซ้อนในแบบญี่ปุ่น และแพทเทิร์นการออกแบบสื่อถึง ความหลากหลาย ความเสมอภาค และความตื่นเต้น
ภาพ: TOKYO 2020
8.ความล้ำลึกของ “มาสค็อต” โตเกียวโอลิมปิก 2020?
“มาสค็อต ของการแข่งขันโอลิมปิก” มีชื่อว่า “มิไรโตะวะ” มีความหมายว่า “อนาคตสดใสตลอดไป” โดยลักษณะการออกแบบโดยใช้สีขาว-น้ำเงิน เพื่อสื่อถึงโลกดิจิทัลที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนทางไซเบอร์อย่างไร้พรมแดน
ส่วน “มาสค็อต ของการแข่งขันพาราลิมปิก” มีชื่อว่า “โซเมตี้” มีความหมายทับศัพท์ตามภาษาอังกฤษคำว่า So mighty ว่า “มีพลัง-ประสิทธิภาพที่ล้นเหลือ” อีกทั้งมีการเลือกใช้สีขาวและชมพู ในการออกแบบ โดยเล่นกับคำที่ตั้งตามภาษาญี่ปุ่นตามชื่อสายพันธุ์ซากุระ “โซเมอิโยชิโนะ” (โซเม โยชิโนะ)
ภาพ: AFP
9.เหรียญรางวัล-เตียงนักกีฬา นวัตกรรมรีไซเคิลสุดเจ๋ง ญี่ปุ่นภูมิใจนำเสนอ
“เหรียญรางวัล” สำหรับผู้เข้าแข่งขันทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำพวกคอมพิวเตอร์-โทรศัพท์มือถือ โดยมีคอนเซ็ปต์ รักษ์โลก เป็นที่ตั้ง มีจำนวนทั้งหมด 2,500 เหรียญ ออกแบบโดย จุนอิจิ คาวานิชิ (Junichi Kawanishi) โดยด้านหลังเหรียญเป็นรูป “นิเค” เทพีชัยชนะของกรีก และมีกล่องเคสวัสดุทำจากไม้ไว้เพื่อเก็บเหรียญรางวัลด้วย
ทางด้าน “เตียงกระดาษ” สำหรับนักกีฬา ทำด้วยกระดาษคาร์ดบอร์ด มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม ผลิตขึ้นจำนวนกว่า 26,000 เตียง (รวมสำหรับผู้เข้าแข่งขันพาราลิมปิกเกมด้วย) และเมื่อจบการแข่งขันเตียงจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับพลาสติกแบบโพลีเอธิลีน (PE)
ภาพ: โตเกียว 2020
ภาพ: โตเกียว 2020
10.มาตรการความปลอดภัยในการป้องกันโควิด-19 ในช่วงการแข่งขัน?
ทางเจ้าภาพผู้จัดงานได้มีการออกกฎระเบียบแบบแผนอย่างเคร่งครัด โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนต้องติดตั้งแอพฯ COCOA แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง และตรวจโควิด-19 ทุกๆ สัปดาห์ และนักกีฬาทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อนเดินทางเข้าแข่งขัน
ภาพ: AFP
กองทัพนักกีฬาไทยลงแข่งอะไร เวลาไหนบ้าง?
กองทัพนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าสู่การแข่งขันโตเกียว 2020 ทั้งหมดจำนวน 42 คน โดยแบ่งเป็นกีฬาทั้งหมด 14 ชนิด 37 โควตา ดังต่อไปนี้
ภาพ: AFP
การแข่งขัน: กรีฑา
เวลาแข่งขัน: 30 ก.ค. – 8 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: คีริน ตันติเวทย์ (วิ่ง 10,000 ม. ชาย)
สุเบญรัตน์ อินแสง (ขว้างจักรหญิง)
การแข่งขัน: กอล์ฟ
เวลาแข่งขัน: 29 ก.ค. – 1 ส.ค. และ 4-7 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: กัญจน์ เจริญกุล (ชาย)
เหมียว – ปภังกร ธวัชธนกิจ (หญิง)
แจ๊ส – อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์ (ชาย)
เม – เอรียา จุฑานุกาล (หญิง)
การแข่งขัน: ขี่ม้า
เวลาแข่งขัน: 23-25 ก.ค. และ 27 ก.ค. – 7 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: นัท – กรธวัช สำราญ (ทีมอีเว้นท์ติ้ง)
บอมบ์ – วีรภัฎ ปิฏกานนท์ (ทีมอีเว้นท์ติ้ง)
มิ้นท์ – อารีย์ณัฏฐา ชวตานนท์ (ทีมอีเว้นท์ติ้ง)
การแข่งขัน: จักรยาน
เวลาแข่งขัน: 24 ก.ค. – 8 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: บีซ – จุฑาธิป มณีพันธุ์ (จักรยาน ถนน)
ฟ้า – ชุติกาญจน์ กิจวานิชเสถียร (จักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์ เรซซิ่ง)
การแข่งขัน: เทควันโด
เวลาแข่งขัน: 24-27 ก.ค. 64
ผู้แข่งขัน: เทนนิส – พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (รุ่น 49 กก. หญิง)
จูเนียร์ – รามณรงค์ เสวกวิหารี (รุ่น 58 กก.ชาย)
การแข่งขัน: เทเบิลเทนนิส
เวลาแข่งขัน: 24 ก.ค. – 6 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: หญิง – สุธาสินี เสวตรบุตร (หญิงเดี่ยว)
ทิพย์ – อรวรรณ พาระนัง (หญิงเดี่ยว)
การแข่งขัน: แบดมินตัน
เวลาแข่งขัน: 24 ก.ค. – 2 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: กันต์ – กันตภณ หวังเจริญ (ชายเดี่ยว)
กิ๊ฟ – จงกลพรรณ กิติธรากุล (หญิงคู่)
บาส – เดชาพล พัววรานุเคราะห์ (คู่ผสม)
ปอป้อ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย (คู่ผสม)
ครีม – บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ (หญิงเดี่ยว)
วิว – รวินดา ประจงใจ (หญิงคู่)
เมย์ – รัชนก อินทนนท์ (หญิงเดี่ยว)
การแข่งขัน: มวยสากล
เวลาแข่งขัน: 24 ก.ค. – 8 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: จุฑามาศ จิตรพงศ์ (รุ่น 51 กก.หญิง)
ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี (รุ่น 57 กก. ชาย)
ใบสน มณีก้อน (รุ่น 69 กก. หญิง)
สุดาพร สีสอนดี (รุ่น 60 กก. หญิง)
การแข่งขัน: ยิงปืนและยิงเป้าบิน
เวลาแข่งขัน: 23 ก.ค. – 2 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: ‘เอิน’ ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ (ยิงปืน ปืนสั้นสตรี 25 ม.)
ธันยพร พฤกษากร (ยิงปืน ปืนสั้นสตรี 25 ม.)
เศวต เศรษฐาภรณ์ (ยิงเป้าบิน แทร็ป ชาย)
สุธิยา จิวเฉลิมมิตร (ยิงเป้าบิน สกีต หญิง)
อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข (ยิงเป้าบิน สกีต หญิง)
อิสรานุอุดม ภูริหิรัญพัชร์ (ยิงปืน ปืนสั้นยิงเร็ว 25 ม. ชาย)
การแข่งขัน: ยูโด
เวลาแข่งขัน: 24-31 ก.ค. 64
ผู้แข่งขัน: กชกร วรสีหะ (รุ่น 52 กก.หญิง)
การแข่งขัน: เรือกรรเชียง
เวลาแข่งขัน: 23-30 ก.ค. 64
ผู้แข่งขัน: นวมินทร์ ดีน้อย (เรือกรรเชียง 2 ฝีพาย ชาย รุ่นไลท์เวท)
ศิวกร วงศ์พิณ (เรือกรรเชียง 2 ฝีพาย ชาย รุ่นไลท์เวท)
การแข่งขัน: เรือแคนู
เวลาแข่งขัน: 25-30 ก.ค. และ 2-7 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: อรสา เที่ยงกระโทก (เรือแคนู สปริ้นท์ 1 คน หญิง 200 ม.)
การแข่งขัน: เรือใบและวินด์เซิร์ฟ
เวลาแข่งขัน: 25 ก.ค. และ 4 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม (เรือใบ เลเซอร์ เรเดียล หญิง)
ณัฐพงษ์ โพธิ์นพรัตน์ (วินด์เซิร์ฟ อาร์เอส:เอ็กซ์ ชาย)
ศิริพร แก้วดวงงาม (วินด์เซิร์ฟ อาร์เอส:เอ็กซ์ หญิง)
การแข่งขัน: ว่ายน้ำ
เวลาแข่งขัน: 24 ก.ค. – 1 ส.ค. 64
ผู้แข่งขัน: จอย – เจนจิรา ศรีสอาด (ฟรีสไตล์ 50, 100 ม. หญิง)
ไวน์ – นวพรรษ วงค์เจริญ (ผีเสื้อ 100, 200 ม.ชาย)
ภาพ: AFP
คนไทยรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขนผ่านช่องทางใดได้บ้าง?
ในการถ่ายทอดสดโปรแกรมการแข่งขัน สามารถรับชมได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
-NBT2 HD
-ThaiPBS
-GMM TV 25
-ข่าวทีวี
-JKN18
-T-SPORTS
-True4U
-PPTV HD 36
โดยเบื้องต้น ช่อง JKN18, True4U, GMM25, PPTV จะดำเนินรายการถ่ายทอดสดแข่งขันโปรแกรมที่ 1 และช่อง ThaiPBS และ NBT จะดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันโปรแกรมที่ 2
โดยสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นของตารางการแข่งขันได้ ที่นี่