เมื่อพูดถึงธุรกิจที่กำลังมาแรง และได้รับความสนใจจากภาครัฐและเอกชนแล้ว ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ หรือ Health & Wellness ถือว่าได้รับอานิสงส์จากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ที่หันมาเอาใจใส่สุขภาพร่างกายมากขึ้น
ข้อมูลการสำรวจของสถาบันโกลบอลเวลเนส (GWI) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2563 เศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยธุรกิจเสริมความงาม ทำรายได้สูงสุด รองลงมาได้แก่อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นต้น
คาดว่าในปี พ.ศ. 2573 ธุรกิจประเภทนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผลดีหากผู้ประกอบการในประเทศไทย สามารถพัฒนาธุรกิจประเภทนี้ และดึงลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาได้
สำหรับเชียงใหม่ ถือเป็นอีกจังหวัดที่มีความพร้อมด้าน Health & Wellness สูง ในปี พ.ศ. 2563 เชียงใหม่มีสถานประกอบการด้านนี้สูงถึง 1,534 แห่ง มีทั้งสถานประกอบการด้านการแพทย์ คลีนิคเสริมความงาม สปา และสถาบันวิจัยและศึกษาด้านสุขภาพ ซึ่งคาดว่าทำรายได้ให้กับจังหวัดสูงถึง 3 หมื่นล้านบาทต่อปี และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวและลูกค้าชาวต่างชาติระดับบนได้
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medial Hub) พ.ศ. 2560-2569 ที่สนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างมูลค่าเชื่อมโยงการค้าอนุภูมิภาคภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กับกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวแถบทะเลอันดามัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเหนือเชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้า นักท่องเที่ยวรายได้ในพื้นที่ภาคใต้ ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดคลี่คลาย และการท่องเที่ยวฟื้นตัว
ซึ่งได้มีการจัดงาน Northern Health & Wellness Festival 2022 ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต โดยนำผู้ประกอบการที่มีสินค้าและบริการสุขภาพภาคเหนือ จำนวน 20 กิจการมาออกบูธและจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ
รวมทั้งยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU 2 ฉบับ เกี่ยวกับคณะทำงานด้านการตลาดจังหวัด (เซลส์แมนจังหวัด) ภูเก็ต- เชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และด้านธุรกิจบริการสุขภาพ ระหว่างสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดภูเก็ต และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เชียงใหม่
คาดว่าความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านสุขภาพในเชียงใหม่ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับสูงในตลาดธุรกิจนี้ ที่มีการใช้จ่ายที่สูงกว่านักท่องเที่ยวประเภทอื่นถึง 1.3 เท่า และสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ไม่เพียงแต่ธุรกิจให้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ธุรกิจอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่ยังได้รับอานิสงค์ อาทิ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ของฝากของที่ระลึก ธุรกิจนำเที่ยวและสถานพักผ่อนนันทนาการอื่นด้วย
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์ , กรุงเทพธุรกิจ , ประชาชาติธุรกิจ