กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่าหนาหู กรณี “บ้านหรู” ขนาด 2 ชั้น พื้นที่ 3250 ฟุต 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ด้านหน้า และบริเวณโดยรอบมีสนามหญ้าและต้นไม้ มูลค่าราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ในซีแอตเทิล สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 70 ล้านบาท ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ป้ายแดง
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 “ชัชชาติ” ชี้แจงผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ยืนยันว่า ซื้อบ้านหลังดังกล่าวด้วยราคาราว 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นไทยประมาณ 40 ล้านบาทเท่านั้น โดยเป็นเงินที่ได้จากการขายที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกที่ได้จาก “มารดา” เมื่อราว 7 ปีก่อน และที่ดินผืนนั้นได้แบ่งกับ “ฉันชาย สิทธิพันธุ์” พี่ชายคนละครึ่ง คือคนละ 1 ไร่ โดยเรื่องนี้ได้ชี้แจงแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว ส่วนที่ผ่านมาไม่ได้แจงนั้น เพราะไม่ได้อยู่ในการเมืองมา 8 ปีแล้ว
อ่านข่าว: “ชัชชาติ” แจงบ้านที่สหรัฐซื้อมา 40 ล้านบาท เงินจากที่ดินมรดก แจ้ง ป.ป.ช.แล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจ “ชัชชาติ” แจ้งการได้รับที่ดิน “มรดก” ดังกล่าวกับ ป.ป.ช. ตอนไหน และขายที่ดินไปช่วงใด
กรุงเทพธุรกิจ ย้อนบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กรณีแจ้งต่อ ป.ป.ช. 2 ยุคคือ กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.คมนาคม เมื่อ ม.ค. 2555 และกรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม ครบรอบ 1 ปีเมื่อปี 2558 (พ้นตำแหน่งปี 2557) ดังนี้
- กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.คมนาคม
มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 50,531,762 บาท ไม่มีหนี้สิน
แบ่งเป็นทรัพย์สินของนายชัชชาติ 19,250,462 บาท ได้แก่ เงินฝาก 5 บัญชี 1,243,132 บาท เงินลงทุน 2 รายการ 11,386,230 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 แห่ง (บ้านพัก 1 หลังตั้งอยู่ที่ ถ.สุขุมวิท 50 ได้มา 30 มี.ค. 2548) มูลค่า 2,561,100 บาท ยานพาหนะ 2 คัน (โตโยต้าเวลล์ไฟร์, โฟลค์สวาเก้น) มูลค่า 2 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 2,060,000 บาท
โดยทรัพย์สินที่น่าสนใจ นายชัชชาติ แจ้งถือครอง พระสมเด็จจิตรลดา 1 องค์ มูลค่า 1.2 ล้านบาท ได้มาเมื่อเดือน ก.พ. 2543 สร้อยทองคำ 1 เส้น มูลค่า 2.5 แสนบาท หลวงปู่ทวด 1 องค์ 5 แสนบาท ได้มามเมื่อ ก.พ. 2543 นาฬิกาโรเล็กซ์ GMT Master II มูลค่า 1.1 แสนบาท ได้มา มี.ค. 2540
ส่วนนางปิยดา (ชื่อขณะนั้น) สิทธิพันธุ์ (นามสกุลเดิม อัศวฤทธิภูมิ) คู่สมรส ระบุว่าทำงานเป็นพนักงานการบินไทย (ขณะนั้น) แจ้งมีทรัพย์สิน 31,281,299 บาท ได้แก่ เงินฝาก 4 บัญชี 4,764,249 บาท เงินลงทุน 7 รายการ 22,327,050 บาท ที่ดิน 1 แปลง (ตั้งอยู่ที่ ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 1-3-15 ไร่ ได้มาเมื่อ 5 พ.ย. 2542) มูลค่า 6 แสนบาท ยานพาหนะ 2 คัน (ฮอนด้าแจ๊ส, เมอร์ซิเดส เบนซ์) มูลค่ารวม 2.7 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 8.9 แสนบาท เป็นนาฬิกา และเครื่องเพชร
- กรณีพ้นตำแหน่ง รมว.คมนาคม ครบ 1 ปี
มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 106,309,812 บาท ไม่มีหนี้สิน
แบ่งเป็นของ นายชัชชาติ มีทรัพย์สิน 73,295,186 บาท ได้แก่ เงินฝาก 10,182,723 บาท เงินลงทุน 1,187,163 บาท ที่ดิน (จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 0-3-10 ไร่ มารดาเป็นผู้ยกให้) 55,145,000 บาท บ้าน 2,820,300 บาท รถยนต์ 1.9 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 2,060,000 บาท ไม่มีหนี้สิน
ส่วน นางปรมินทร์ทิยา สิทธิพันธุ์ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 33,014,626 บาท ได้แก่ เงินฝาก 19,186,009 บาท เงินลงทุน 10,138,616 บาท ที่ดิน 6 แสนบาท รถยนต์ 2.2 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 8.9 แสนบาท ไม่มีหนี้สิน
สำหรับที่ดิน 2 แปลงที่ “ชัชชาติ” ระบุว่า “มารดา” เป็นผู้ยกให้ มีจำนวน 2 แปลง โดยแจ้งกับ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม ครบ 1 ปี เมื่อปี 2558 ได้แก่
โฉนดเลขที่ 197981 ต.บางจาก อ.พระโขนง จ.กรุงเทพฯ ได้มาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 เนื้อที่ 0-3-10 ไร่ มูลค่า 11,780,000 บาท
โฉนดเลขที่ 18990 ต.ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ อ.พระโขนง จ.กรุงเทพฯ ได้มาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 เช่นเดียวกัน เนื้อที่ 1-0-13 ไร่ มูลค่า 43,365,000 บาท
ทั้งนี้เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานการตรวจสอบหลังโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง พบว่า
โฉนดเลขที่ 197981 ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 นางจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (มารดา) ได้ยกที่ดินให้นายชัชชาติ รวม 2 โฉนด เนื้อที่ 0-3-10 ไร่
ส่วนโฉนดเลขที่ 18990 ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2504 นายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ได้ให้ที่ดินแค่ นางสมจิตต์ กุลวณิชย์ (มารดาของนางจิตต์จรุง มีศักดิ์เป็นยายของนายชัชชาติ) ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2520 คุณหญิงสมจิตต์ ได้มอบให้นางจิตต์จรุง และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ได้ยกที่ดินให้นายชัชชาติ รวม 2 โฉนด เนื้อที่ 1-0-13 ไร่
ขณะเดียวกัน นางจิตต์จรุง ยังยกบ้านเลขที่ 16/1 ต.ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ อ.พระโขนง กทม. ตั้งบนโฉนดเลขที่ 18990 มูลค่า 259,200 บาท ให้แก่นายชัชชาติอีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว พบว่า ที่ดินมรดกของมารดาดังกล่าว ได้รับมาเมื่อปี 2557 ซึ่งนายชัชชาติแจ้งต่อ ป.ป.ช. ปี 2558 แต่มิได้มีการระบุว่า ขายให้กับใครไปหรือไม่
ดังนั้นในการยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” จะมีการชี้แจงในส่วนนี้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป