เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลการศึกษา พบเกือบ 50% ของขยะกรุงเทพฯ มาจากอาหาร ลามสู่ปัญหาการจัดการทั้งระบบ แนะวิธีจัดการอย่างสร้างสรรค์ทั้งซัพพลายเชน ช่วยลดภาระผู้ว่าฯ เพิ่มโอกาสให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงอาหาร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผศ.ดร. ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ปัญหาขยะอาหารในกรุงเทพมหานคร ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำจัดขยะโดยรวม เพราะเมื่อขยะเปียกไปรวมกับขยะประเภทอื่นจะทำให้การรีไซเคิลทำได้ยากลำบาก จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณ 2563 ขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 45.41 โดยน้ำหนัก และมีขยะเฉลี่ย 9,519.81 ตันต่อวัน ส่วนปีงบประมาณ 2564 ขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 46.21 โดยน้ำหนัก และมีขยะเฉลี่ย 8,674.73 ตันต่อวัน เท่ากับขยะอาหารมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะมูลฝอยตามบ้านเรือน แต่มีการนำเศษอาหารมาใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 5.24 โดยเฉลี่ยเท่านั้น
– ผศ.ดร. ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย –
“เมืองมีปัญหาเยอะ แต่ไม่ใช่ทุกปัญหา ผู้ว่าฯจะแก้ได้ บางเรื่องเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมที่ชาวกรุงเทพต้องช่วยกันเปลี่ยน หรือบางปัญหามาจากภาคอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตต้องแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น” ผศ.ดร. ขนิษฐา กล่าว
ในหนังสือ “การสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย : กรณีศึกษาบรรจุภัณฑ์พลาสติกและขยะอาหาร” โดย ผศ.ดร. ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย และ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สนับสนุนโดยมูลนิธิ FES ประเทศไทย ได้ยกทฤษฎีลำดับขั้นการจัดการขยะอาหารในรูปแบบสามเหลี่ยมคว่ำ ที่ฝั่งยุโรปนำไปใช้ได้ผลดี คือเริ่มจากการป้องกันการสร้างขยะอาหารจากผู้ผลิต การบริโภคให้คุ้มค่าที่สุดทั้งสำหรับคนและสัตว์ การนำไปแปรรูปต่อ เช่น หมักปุ๋ย สร้างพลังงานทดแทน และสุดท้ายคือการนำไปทิ้ง ทั้งนี้ มีตัวอย่างที่ดีเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย ที่อยากให้ประชาชนได้ศึกษาและช่วยกันขยายผล
– ที่มา: ec.europa.eu –
ลดอาหารเสียตั้งแต่ต้นทาง
วัตถุดิบอาหารสดส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองกรุงและมักเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งลอตใหญ่ เช่น เสีย ช้ำ ทำให้ต้องทิ้งไป มีการริเริ่มจากซุปเปอร์มาร์เก็ตบางรายรวมทั้งโครงการหลวง ที่ปรับกระบวนการขนส่งและจัดการอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เช่น ปรับรูปแบบการห่อหุ้มวัตถุดิบให้เหมาะสมเพื่อลดความเสียหาย อีกทั้งเมื่อวัตถุดิบอาหารบนชั้นวางใกล้หมดอายุ ก็นำไปลดราคาหรือบริจาค ก่อนที่อาหารเหล่านั้นจะเสียจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก
อาหารส่วนเกินอย่าทิ้ง
ธนาคารอาหาร หรือ Food Bank มีส่วนสำคัญอย่างมากทั้งในด้านการพัฒนาสังคมและการจัดการขยะ เป็นการนำอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพดีมาแบ่งปันให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ในสหรัฐอเมริกา มีการให้ Food Stamp กับผู้มีรายได้น้อยและสามารถนำมาขอรับอาหารได้ทุกวัน ในกรุงเทพมหานคร Food Bank ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติ และมีการริเริ่มแล้วที่เขตบางขุนเทียน ในขณะที่ฝั่งเอกชนสามารถแบ่งปันอาหารได้ผ่านแอพพลิเคชั่นที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมระหว่างผู้ผลิตอาหาร อาทิ โรงแรม ร้านเบเกอรี่ คาเฟ่ ที่มีอาหารเหลือในแต่ละวัน นำมาลดราคาให้คนได้มาซื้อช่วงก่อนปิดร้าน
ขยะอาหารไม่ควรเดินทาง
ในมุมการจัดการขยะอาหารที่ดีที่สุด คือขยะอาหารไม่ควรออกจากบ้านเรือน นั่นหมายถึงการบริโภคให้หมดหรือจัดการหมักภายในครัวเรือน เพราะอาหารเป็นขยะที่ย่อยได้ แต่เมื่อขยะอาหารออกจากบ้านไปสู่รถขยะแล้ว จะสูญเสียค่าขนส่งเกินจำเป็นเนื่องจากขยะเปียกมีน้ำหนักมาก อีกทั้งความชื้นยังมีผลต่อเตาเผาทำให้ใช้พลังงานมากซึ่งทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่สามารถรวบรวมเศษอาหารจำนวนมาก เช่น ฟู้ดคอร์ท หรือตลาด ควรจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับนำเศษอาหารมาหมักเป็นปุ๋ยชุมชน ตัวอย่างเช่น บนดาดฟ้าของห้างเซนเตอร์วันมีฟาร์มผัก ชื่อ “wastegetable” ของ บางกอก รูฟท๊อป ฟาร์มมิ่ง (ธุรกิจเพื่อสังคม) ซึ่งใช้ปุ๋ยหมักเหล่านี้มาปลูกผัก และขายผักให้แก่สมาชิก เป็นการสร้างรายได้จากของเหลือใช้ภายใต้วิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Food delivery ที่เติบโตขึ้น ทำให้เมืองมีขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกพ่วงมากับอาหารจำนวนมาก ซึ่งมีกระบวนการจัดการที่ต่างกับขยะอาหารโดยสิ้นเชิง ขยะพลาสติกต้องเข้าสู่การจัดการระดับอุตสาหกรรม ผศ.ดร. ขนิษฐา จึงแนะนำว่า สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้คือลดการใช้พลาสติก ปฏิเสธบรรจุภัณฑ์ที่เกินจำเป็น พลาสติกที่คุณภาพดีควรนำไปใช้ซ้ำให้นานที่สุด และสุดท้ายคือช่วยกันแยกขยะเพื่อลดภาระให้กทม.