ก้าวไกล แถลง 10 ข้อสังเกต ผังเมืองกทม. ใหม่ สะท้อนปัญหาการพัฒนาแบบกระจุกความเจริญ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนด
สส. และ ส.ก. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล นำโดย นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ แถลงข้อเสนอและข้อสังเกต 10 ประการ กรณีการจัดทำผังเมืองฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้
โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง
1. การรับฟังความคิดเห็น ในวันพรุ่งนี้ (6 ม.ค. 67) เวลา 9.00 น. เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงร่างผังเมืองฉบับที่สมบูรณ์ที่ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น
2. การกำหนดผังสี โดยไม่มีหลักการและไร้ทิศทาง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผังเมืองกรุงเทพมหานครในร่างปรับปรุงครั้งนี้ เป็นเพียงการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้า และการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่การวางผังเพื่อชี้นำความเจริญและกำหนดอนาคตเมือง แต่เป็นการวางผังหลังจากที่เมืองเจริญไปก่อนแล้ว และปรับผังตามการเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทาง
3. การเปลี่ยนแปลงพื้นที่อนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม (ผังสีเขียว) ซึ่งฝั่งตะวันตก อาทิ เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน ที่เคยกำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่รับน้ำนั้นถูกตัดหายไป แต่มีการปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เจริญขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลายพื้นที่ ซึ่งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกที่ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยส่วนใหญ่จะยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น
4. ไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดในการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองกรุงเทพฯ และไม่ได้มีการวางแผนร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับ ปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ หรือมีหลักการและเหตุผลประกอบ ในบางพื้นที่มีความย้อนแย้งตรงรอยต่อ อาทิ รอยต่อ กรุงเทพ-สมุทรปราการ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการพัฒนา
5. เรื่อง FAR Bonus (สิทธิพิเศษในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผังเมืองกำหนด) ร่างผังเมืองปัจจุบัน มีการกำหนดมาตรการจูงใจเอกชนแลกกับ FAR Bonus ในรูปแบบต่าง ๆ
6. ปัญหาความไม่สอดคล้องของแผนคมนาคม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้สอดคลองกับแนวทางระบบคมนาคมโดยรวม
7. ผังสีขาว (ที่ดินทหาร )ในร่างผังเมืองฉบับนี้ ยังคงไว้ซึ่งมีอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 12,900 ไร่ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากจึงควรจะนำมาพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า
8. การกำหนดพื้นที่สีแดง สำหรับการพาณิชย์อย่างไม่มีหลักการเพราะกระจายตัวอยู่บนพื้นที่ของเหล่านายทุน ไม่สอดคล้องกับแผนผังการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อย
9. ผังพื้นที่โล่ง/พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งในด้านการใช้ งานอเนกประสงค์ และการรับน้ำ ให้กับพื้นที่ในเมือง ซึ่งร่างผังเมืองฉบับนี้ได้นับรวมพื้นที่เอกชน อาทิ สนามกอล์ฟ เข้าไปด้วย เป็นการขัดแย้งต่อเงื่อนไขการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด
10. สภาพปัญหาของกรุงเทพ คือ การกระจุกความเจริญ โดยร่างผังเมืองปัจจุบันไม่ได้แก้ไขปัญหาลดความแออัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่อย่างใด และไม่มีการกระจายความเจริญอย่างมีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น จากวันนี้ จนถึงวันที่ 22 ม.ค. 67 จะมีการ รับฟังความคิดเห็น รวบรวมสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะ รวมทั้งข้อเสนอแนะ 10 ข้อดังกล่าวนี้ เพื่อส่งไปยังสำนักการผังเมือง และคณะกรรมการผังเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
เฟสบุ๊ค: https://www.facebook.com/innnews.co.th
ทวิตเตอร์ : https://twitter.com/innnews
โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง
ยูทูป : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
ติ๊กต็อก: https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews